วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

คาร์โบไฮเดรต

      คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) เป็นสารชีวโมเลกุลชนิดที่สำคัญที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดและมีความจำเป็นต่อร่างกายของเราอย่างยิ่งค่ะ ซึ่งเป็นสารชีวโมเลกุลที่ทำหน้าที่สะสมพลังงานที่พบในชีวิตประจำวันทั่วไปได้แก่ น้ำตาล แป้ง เซลลูโลส  และไกลโคเจน โดยที่ส่วนใหญ่พบแป้งและเซลลูโลสในพืช ส่วนไกลโคเจนพบในเซลล์เนื้อเยื่อ น้ำไขข้อและผนังเซลล์ของสัตว์ คำว่าคาร์โบไฮเดรตมีรากศัพท์มาจากคำว่า คาร์บอน (carbon) และคำว่าไฮเดรต (hydrate) อิ่มตัวไปด้วยน้ำ ซึ่งรวมกันก็หมายถึงคาร์บอนที่อิ่มตัวไปด้วยน้ำ โดยคาร์โบไฮเดรตจัดเป็นสารประกอบแอลดีไฮด์ (aldehyde) หรือคีโทน (ketone) ที่มีหมู่ไฮดรอกซิลเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่าสารประกอบโพลีไฮดรอกซีแอลดีไฮด์ (polyhydroxyaldehyde) หรือ โพลีไฮดรอกซีคีโทน (polyhydroxyketone) คาร์โบไฮเดรตมีความหลากหลายทั้งในด้านของโครงสร้างทางเคมีและบทบาททางชีวภาพอีกด้วย หน่วยที่เล็กทีสุดของคาร์โบไฮเดรตก็คือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหรือโมโนแซคคาร์ไรด์ค่ะ ประเทศไทยที่อุดมไปด้วยพืชผักและพรรณไม้นานาชนิดซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของคาร์โบไฮเดรต เมื่อพืชสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์แสง เพื่อนำอาหารไปสร้างเป็นส่วนของลำต้น ราก ใบ ดอก ผล และเมล็ด อาหารส่วนที่เหลือจะถูกนำไปเก็บสะสมไว้ในส่วนต่าง ๆ ในรูปของแป้งและน้ำตาล จึงกล่วไดว่าพืชเป็นแหล่งสำคัญของคาร์โบไฮเดรต ข้าวเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งและเป็นอาหารหลักของคนไทยส่วนใหญ่
carbohydrate-foods-1

เกี่ยวกับคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)


ในทางเคมี คาร์โบไฮเดรตทุกประเภทประกอบด้วยอะตอมต่างๆของคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน โดยเรียงตัวในลักษณะที่ต่างกันไป และคาร์โบไฮเดรตทุกประเภทมีบทบาทสำคัญทางโภชนาการ คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่พบมากในอาหารประเภท ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน และพืชผักผลไม้ที่มีรสหวาน
carbohydrate-foods-2
คาร์โบไฮเดรตมี 2 ประเภทใหญ่ๆ โดยคาร์โบไฮเดรตสามารถจำแนกตามจำนวนโมเลกุลของน้ำตาลที่เชื่อมโยงกันได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1.คาร์โบไฮเดรตประเภทน้ำตาลชนิดต่างๆ เราเรียกว่าเป็น ”คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว”
กลุ่มน้ำตาลชั้นเดียว (monosacharide,simple sugar) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด ร่างกายไม่สามารถย่อยให้เล็กลงกว่านี้ได้อีก เมื่อรับประทานเข้าและไปสามารถดูดซึมได้ทันที ได้แก่
กลูโคส ( มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป ในพืช ผัก ผลไม้ต่างๆ เช่น องุ่น ข้าวโพด น้ำผึ้ง)
ฟรุคโทส (มีรสหวานกว่าน้ำตาลชนิดอื่น พบในเกสรดอกไม้ ผลไม้ ผัก น้ำผึ้ง กากน้ำตาล ปนอยู่ในกลูโคส ในร่างกายได้จากการย่อยน้ำตาลทราย)
กาแลกโทส (ไม่เกิดในรูปอิสระในธรรมชาติ ได้จากการย่อยแลกโทส หรือน้ำตาลนม ซึ่งมีอยู่ในอาหารพวกนมและผลิตผลของนมทั่วๆไป)
กลุ่มน้ำตาลสองชั้น (disaccharide, double sugar) เป็นน้ำตาลที่ได้จากการรวมน้ำตาลชั้นเดียว 2 โมเลกุล เมื่อกินน้ำตาล 2 ชั้นเข้าไป ต้องถูกย่อยโดยเอนไซม์ในทางเดินอาหารได้น้ำตาลชั้นเดียวก่อนจึงจะดูดซึมได้ คาร์โบไฮเดรตประเภทนี้ ได้แก่
ซูโครส (น้ำตาลทราย)
มอสโทส (ในเมล็ดข้าวที่งอกแล้ว)
แลกโทส (ในนม หรือ น้ำตาลนม)
2.คาร์โบไฮเดรตประเภทแป้ง เราเรียกว่าเป็น “คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน”
กลุ่มน้ำตาลหลายชั้น หรือพวกไม่ใช่น้ำตาล (Polysaccharide) เป็นคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่และซับซ้อน ประกอบด้วยน้ำตาลชั้นเดียวเป็นจำนวนมาก มารวมกัน ไม่มีรสหวาน ได้แก่
แป้ง (starch) พบในพืช สะสมอยู่ในเมล็ด ราก หัว ลำต้น เมล็ดเป็นแหล่งธัญพืชสำคัญ โมเลกุลของแป้งเกิดจากน้ำตาลกลูโคสต่อกันเป็นจำนวนมากในรูปที่เป็นเส้นตรง อะมิโลส (amylose) และกิ่งก้านอะมิโลเพกทิน (amylopectin) เมื่อแป้งถูกย่อยถึงขั้นสุดท้ายจะได้น้ำตาลกลูโคส
ไกลโคเจน (glycogen) เป็นน้ำตาลหลายชั้น พบในตับและกล้ามเนื้อสัตว์ บางทีเรียกว่า แป้งสัตว์ มีส่วนประกอบคล้ายแป้ง แต่มีกิ่งก้านมากกว่าเมื่อแตกตัวออกจะได้กลูโคสและมักไม่พบในพืช
เดกซ์ทริน (dextrin) ได้จากการย่อยแป้ง อาหารที่มีเดกซ์ทรินอยู่บ้าง ได้แก่ น้ำผึ้ง โดยมากปนอยู่กับคาร์โบไฮเดรตอย่างอื่น เดกซ์ทรินเมื่อแตกตัวหรือถูกย่อยต่อไปจะให้มอลโทสและท้ายที่สุดจะให้กลูโคส แป้ง เดกซ์ทริน มอลโทส กลูโคส
เซลลูโลส (cellulose) บางทีเรียกว่าใยหรือกาก เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์พืช มีมากในใบ ก้าน เปลือก คนไม่สามารถย่อยเซลลูโลสได้ และเซลลูโลสเองยังช่วยป้องกันการท้องผูกค่ะ

 ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรตที่มีต่อร่างกาย
 ให้พลังงานและความร้อน หรือให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยคาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงานประมาณ 4 แคลอรี่ และเป็นพลังงานที่จะถูกร่างกายนำมาใช้ก่อนสารอาหารประเภทไขมันและโปรตีนตามลำดับ
ช่วยให้ร่างกายนำสารอาหารโปรตีนไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ กล่าวคือ ถ้าร่างกายได้ พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมาใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายจะนำเอาโปรตีนมาสลายให้เกิดพลังงาน แทนร่างกายก็จะผอมลงได้
ใช้เป็นพลังงานสำรองของร่างกาย ถ้าร่างกายรับประทานพวกคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ส่วนเกินนี้จะถูกปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย และจะถูกนำมาใช้เมื่อร่างกายขาดแคลนพลังงาน
ช่วยทำลายพิษและขจัดสารพิษ สารเคมีบางอย่างเมื่อเข้าไปในร่างกายโดยบังเอิญหรือติดไปกับอาหาร ตับจะกำจัดสารพิษโดยทำปฎิกิริยากับสารพวกคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นสารที่ไม่มีพิษ โดยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของตับ ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายในการขจัดสารพิษในเลือด
ช่วยในการขับถ่าย เซลลูโลสช่วยกระตุ้นในการทำงานของลำไส้และ ป้องกันการท้องผูก แลกโทสเป็นอาหารที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกรดในลำไส้ของทารกการเกิดกรด ช่วยการดูดซึมของแคลเซียมทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ดี เดกซ์ทรินเป็นอาหารที่เหมาะแก่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียพวกนี้ใช้พลังงานจากเดกซ์ทรินในการสังเคราะห์วิตามินบีต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
ช่วยให้ไขมันเผาไหม้สมบูรณ์ ไขมันในร่างกายจะเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ถ้ารับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่พอ ทำให้เกิดสารที่เป็นโทษแก่ร่างกายขึ้นในเลือดและ ในปัสสาวะ (ketone bodies) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้นานๆในรายที่เป็นเบาหวานขั้นรุนแรง จะทำให้ความเป็นกรดด่างของร่างกายเปลี่ยนไป ร่างกายมีความเป็นกรดมากไปอวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ อาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติ และตายได้
ช่วยรักษาสภาพสภาวะน้ำตาลในเลือดให้คงที่ คือ 70-100 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ทำงานปกติ ซึ่งคนปกติระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นอาการของโรคเบาหวาน ถ้าต่ำผิดปกติทำให้เกิดอาการชักหรือช็อกหรือหมดสติ ดังนั้นถ้าน้ำตาลไปเลี้ยงสมองไม่พอจะทำให้เกิดอาการช็อก หรือหมดสติได้ ระดับน้ำตาลในเลือดยังช่วยควบคุมการบริโภคอาหารของมนุษย์ ถ้าระดับน้ำตาลในเส้นเลือดแดงสูงกว่าในเส้นเลือดดำมากแสดงว่ามีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายใช้ประโยชน์ได้อยู่เป็นจำนวนมาก (vailable หรือ utilization) จะรู้สึกอิ่ม แต่ถ้าระดับน้ำตาลในเส้นเลือดแดงต่ำเกือบเท่าเส้นเลือดดำ แสดงว่ามีคาร์โบไฮเดรตที่ใช้ได้น้อยหรือเก็บไว้น้อยในร่างกาย จะทำให้รู้สึกหิว (hunger)